Demo Site

กุฎิท้ายวัด

การยอมรับคืออะไร

โดย ศ.นพ.เชวง เดชะไกศยะ
วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2009

มีประโยชน์หรือไม่ ทำความรู้สึกอย่างไรจึงจะเรียกว่ามีการยอมรับเกิดขึ้น และจะต้องทำอย่างไร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องเข้าใจ ต้องมีการพิจารณาใคร่ครวญทบทวนเสีย ก่อนจะคิด จะทำ จะพูดอยู่เสมอ

การยอมรับฟังผู้อื่นพูด และการยอมรับความคิดเห็น ตลอดจน การกระทำของผู้อื่น จึงจะเกิดขึ้นในความรู้สึกของเราได้ เพราะการกระทำความยอมรับผู้อื่นให้เกิดขึ้นในจิตใจนั้นเป็นของทำได้ยากมาก แต่เป็นประโยชน์และมีความสำคัญอย่างยิ่ง อันเป็นพื้นฐานของคุณภาพชีวิตของบุคคลทุกคน

เพราะคนเราต้องพึ่งผู้อื่นและอาศัยผู้อื่น ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นตลอดชีวิตของเรา ตั้งแต่เกิดขึ้นมาลืมตามองดูโลกก็ต้องอาศัยผู้อื่น คือมารดาของเรา มีชีวิตอยู่จะสุข จะทุกข์ก็ต้องอาศัยผู้อื่น ต้องรัก ต้องโกรธ เกลียด แม้กระทั่งกลัวผู้อื่นจะว่าเรา ผู้อื่นจะทำให้เราเสียหายด้วยชื่อเสียงและทรัพย์สมบัติของเรา บางครั้งความสุข ความสำเร็จของผู้อื่นกลับนำความทุกข์มาให้แก่เรา เพราะอำนาจความอิจฉาริษยาที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แม้กระทั่งเขามาว่าคนที่เรารัก หรือชมคนที่รักเกลียด เราก็ไม่พอใจเศร้าหมองเดือดร้อน ต้องตามมองดูโทษของผู้อื่นและก็ต้องตามอภัยโทษให้กับผู้อื่นอยู่เนือง ๆ บางครั้งก็ได้บางครั้งก็ไม่ได้ ทำให้เรานึกว่า เราเก่ง เราดี ให้อภัยคนได้ มีเมตตา

คนอื่นอีกนั่นแหละ มาสอนให้เราทำบุญแผ่เมตตาทำทานกุศล ภาวนากุศลบ้างเพียงเล็กน้อย เพื่อหวังมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติบ้าง เพื่อให้ตัวเราไปเสวยสุขในสมบัติทั้งหลายเหล่านั้น การทำบุญของเราจึงบกพร่องด้วยเจตนา ทำเหตุให้เสียไปเปล่า ๆ แม้กระทั่งเราตาย ผู้อื่นอีกนั่นแหละเผาร่างของเรา อธิษฐานให้เราที่เหลือแต่วิญญาณไร้ร่างให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เห็นไหมล่ะ ชีวิตของเราตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย ความรู้สึกของเรา สัญญาของเราจึงมีแต่ผู้อื่นเสมอไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา บุตรที่รัก ญาติสนิทมิตรสหายบุคคลอื่นที่เรารักก็มี เกลียดก็มี อภัยให้ไปบ้างแล้วก็มีอโหสิ ไม่ได้ก็มี ผู้อื่นอีกนั่นแหละที่มีความสำคัญแก่เราอย่างมากที่สุดก็มี นำความสุขมาให้แก่เรา ช่วยเหลือเราเมื่อเวลาเรามีทุกข์ แก้เหงา แก้ความเบื่อความเซ็ง ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายให้แก่เราได้ ดังนั้นผู้อื่นจึงเป็นความสำคัญแก่ตัวเราอย่างยิ่ง ในพระพุทธศาสนา จึงสอนให้เรารู้จักตนเองและบุคคลอื่นนอกจากตัวเราให้ดี เพราะให้คุณให้โทษแก่เราได้

ในคัมภีร์ “ ปุคคลบัญญัติ ” ท่านจำแนกบุคคลทั้งหลายออกเป็นถึงเกือบ ๔๐๐ ประเภทในรายละเอียด ตั้งแต่ปุถุชนธรรมดา จนถึงขั้นพระอริยบุคคลต่าง ๆ เราจึง ควรรู้ ควรเข้าใจ บุคคลในขั้นพื้นฐานเสียก่อนว่า เราอยู่ในประเภทบุคคลที่เรียกว่า “ ปุถุชน ” แปลว่าผู้หนาแน่นด้วยกิเลส คือมี ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่างเต็มเปี่ยมอยู่ในจิตใจของเราทุกคน อุปมาใจของเราเป็นเวทีละคร ตัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง เหมือนตุ๊กตาไขลานออกมาเล่นบนเวทีใจของเรา เมื่อเราได้รับอารมณ์ดี ๆ เช่น ตาเห็นรูปสวย ๆ ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ได้รสอาหารอร่อยดี ๆ เช่น ตมเห็นรูปสวย ๆ ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ได้รสอาหารอร่อยดี ๆ ความยินดีพอใจก็เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ดี ๆ ทั้งหลายเหล่านั้นเรียกร้อง เป็นเหตุให้ตุ๊กตาที่ชื่อโลภะขึ้นมาเล่นแสดงบนใจของเรา

ครั้นรูปสวย ๆ หมดไป เสียงชมเชยสรรเสริญเราหมดไป กลับเป็นเสียงที่นินทาว่าร้ายเรา ก็เป็นเหตุให้ตุ๊กตาที่ชื่อโทสะออกมาเต้นในใจของเรา เกิดความทุกข์เศร้าหมองโกรธเกลียดไม่อยากได้อารมณ์ที่ไม่ดีเหล่านั้น อยากได้ต้องการหาอารมณ์ดี ๆ ที่เราต้องการอันเป็นความสุข โลภะตุ๊กตาที่ลงไปอยู่ในส่วนลึกของใจ คือลงเวทีก็ขึ้นมาแสดงอีก

ชีวิตของเราจึงเรียกว่าตกอยู่ใต้อำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสอยู่เป็นประจำ แม้เราอยู่คนเดียวเฉย ๆ ความฟุ้งซ่านคิดนึกไปในอดีต อนาคต เราก็ไม่รู้ว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจของโมหะตุ๊กตา (โมหกิเลส) เป็นเหตุให้เรามีความฟุ้งซ่านวิตกกังวลไปในเรื่องที่แล้วมา แล้วก็มีคิดนึกไปในอนาคตในเรื่องราวที่ยังมาไม่ถึงก็มีความทุกข์ความเศร้าหมองไม่แจ่มใสเบิกบานจึงเกิดขึ้นแก่เราเป็นประจำ หาความสุขกายสบายใจยากเต็มที ทุก ๆ คน ตัวเราเองและผู้อื่นก็ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ คือ อยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๓ อย่างหมดจด อำนาจของกุศลอันได้แก่ ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง คือความมีปัญญาเป็นตุ๊กตาฝ่ายดีอีก ๓ ตัว มีโอกาสขึ้นมาแสดงบนเวทีใจของเราได้เป็นบางครั้ง เช่นในขณะที่เราคิดจะให้ทาน คิดจะช่วยเหลือผู้อื่น แม้กระทั่ง ในขณะที่เรายอมรับผู้อื่น เวลาเขาพูด เขาทำ อยู่หรือแสดงความคิดเห็นอยู่ในขณะที่เรารู้สึก ตั้งใจ ยอมรับเขาอยู่นั้นกิเลสก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เป็นอกุศลอันได้แก่ ตุ๊กตาที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงเกิดขึ้น เล่นละครอยู่ บนเวทีใจของเรานั่นเอง เราจึงมีความรู้สึกที่ดีแจ่มใส ยอมรับผู้อื่นในขณะนั้นได้ เพราะอะไร เพราะอำนาจกิริยาอาการและหน้าที่ของธรรมชาติ อันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกิเลสกำลังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจของเรา

นี่เป็นคำสอนอันประเสริฐสุดในพระพุทธศาสนาและมีเฉพาะในคำสอนของพระบรมศาสนาเท่านั้น ย่อมไม่มีในลัทธิอื่นและศาสตร์อื่นใดในโลกเลย สมดั่งที่ท่านพระอัสสซิแสดงแก่ท่านพระสารีบุตร ในขณะที่ยังเป็นปริพพาชก ณ รุ่งอรุณของเช้าวันหนึ่ง หลังจากที่ปริพพาชกผู้นั้นได้ถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน คำสอนนั้นว่าอย่างไร ท่านพระอัสสซิจึงได้ตอบว่า “ ธรรมเหล่าใดไหลมาแต่เหตุ ตถาคตทรงแสดงเหตุผลและการดับเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณเจ้ามีปรกติตรัสเช่นนี้ ” คาถานี้สมควรนับเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาได้ทีเดียว

คำว่า เหตุ นี้จึงหมายถึงโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นธรรมฝ่ายบาปไม่ดี อโลภะ อโทสะ อโมหเหตุเป็นธรรมฝ่ายบุญ ผลัดกันเล่นอยู่ในจิตใจของปุถุชนให้ทำบาปบ้างทำบุญบ้างตามอำนาจกำลังของเขาบางครั้งทำให้มีความต้องการมาก ถึงกับไปลักขโมยของผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่นก็ได้ ตามเพ่งโทษเบียดเบียนผู้อื่นโกระ เกลียด น้อยใจ เสียใจ ทำความดีก็ไม่มีใครเห็น วันพระไม่มีหนเดียว เดี๋ยวดีใจ เสียใจ ร้องไห้ คร่ำครวญ เมื่อพลัดพรากจากของรัก ต้องอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่รักไม่ปรารถนา บางครั้งถึงกับต้องฆ่าตัวเองหรือผู้อื่นไปก็มี

เพราะอะไรเล่าเป็นเหตุ ผลจึงเป็นความทุกข์ของมหันต์ พระพุทธองค์จึงสอน ให้ดับที่เหตุ (กิเลส)ไม่ให้ดับตรงผล เมื่อรู้ผลแล้วก็ให้สาวไปหาเหตุ ดับเหตุต้องทำอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ต้องฟังให้เป็น คิดพิจารณาให้ถูกตรงปัญญาจึงจะเกิด และเอาปัญญาที่คิดเป็นทำเป็นนั้น คือความเข้าใจที่ถูกต้องเอามาปฏิบัติจะต้องใช้อารมณ์ คือต้องตั้งกรรมฐานอะไรจึงจะเป็นปัจจัยให้เกิดสัมปชัญญะ คือปัญญาเข้าอาศัยอยู่ใน ความรู้สึก ขณะนั้น และไม่ให้เป็นที่อาศัยของกิเลสไปด้วย เป็นการเจริญ สติสัมปชัญญะ นั่นเอง ทำให้เรามีความมั่นคงในจิตใจ กิเลสนิวรณ์ เกิดขึ้นในจิตก็รู้ จึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ อยู่เสมอ รู้ตัวทั่วพร้อมพิจารณาใคร่ครวญ ทบทวนความรู้สึกของตัวเองได้อยู่เสมอ ตัวสติสัมปชัญญะนี่ แหละเป็นฝ่ายกุศลธรรม ทำให้เรามีความรู้สึกยอมรับผู้อื่นอยู่ได้เสมอ ๆ เนือง ๆ เพราะเราได้ทำเหตุที่ดีมาแล้ว จากความเข้าใจ

ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร เราต้องฟัง คือการยอมรับได้เกิดขึ้นแล้ว ในขณะที่เขา เปิดปาก ควรต้องเป็นเวลาที่ ปิดปาก ของเรา เขาจะพูดอะไรก็ไม่เป็นผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องของเขา เป็น ความเห็น ของเขาจะ จริง หรือ ไม่จริง ควร เชื่อ หรือ ไม่เชื่อมันคนละเรื่องกัน ความจริงก็อย่างความเชื่อก็อีกอย่างสิ่งที่เขาเชื่อหรือพูดออกมาจะจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ ล้วนไม่สำคัญสำหรับเขา แต่ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า เราต้องยอมรับฟัง เราก็ได้ประโยชน์แล้วจากการ ฟังเขาพูด ประโยชน์ได้ถึง ๒ อย่างคือ จิตใจของเราความรู้สึกของเราในขณะนั้นกันกิเลสไม่ให้เข้าสู่ใจเรา ใจเราก็ไม่เศร้าหมองเดือดร้อน อีกอย่างหนึ่งคือขณะที่เรามีความรู้สึกยอมรับเขาอยู่นั้นเอง จะเป็นเหตุให้จิตใจของผู้พูดเกิน กุศลจิต คือความรู้สึกที่ ยอม รับเราเช่นเดียวกับมีความพอใจเราอยู่ บุคคลส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เข้าในสภาพจิตใจของตนและผู้อื่น การยอมรับ ผู้อื่นให้เกิดขึ้นในความรู้สึกจึง ยากมาก เพราะ ขาดความรู้ความเข้าใจเป็นเบื้องต้น เสียแล้วจะน้อมนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจึงเป็นไปไม่ได้ นี่คือประโยชน์ทั้งสองฝ่ายที่ถึงพร้อม ดั่งพระบาลีที่ว่า “ สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ” แปลว่า ฟังให้ดีย่อมได้ปัญญา

ฟังอย่างไรเล่าจึงจะเรียกว่า ฟังให้ดี คือต้องทำ ความรู้สึกยอมรับเสียก่อนเป็นเบื้องต้น ต่อไปต้องเอาความเห็นความเชื่อของเราที่เคยมีอยู่ออกไปจากใจของเราเสียก่อน เรื่องราวที่เราเคยรู้มาจากผู้อื่นก็ดี จากการอ่านหนังสือมาก็ดี จริงก็ได้ไม่จริงก็ได้ ขั้นสุดท้ายคืออย่า คอยจัดผิดคำพูดของเขาเพราะปกติของใจเรามักจะคอย เพ่งโทษจับผิด ผู้อื่นอยู่เสมอ ใครพูดไม่ตรงกับความเชื่อของเรา ความเห็นของเราคนอื่นผิดหมดของเราถูกหมด ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นขึ้นเพราะตัณหาและทิฐิกิเลส จึงต้องละทำลายเสียก่อนคือ การยอมรับ และ ฟังให้ดี จะต้องทำให้ความรู้สึกที่ดีให้เกิดขึ้นเสมอ ๆ ด้วยการพบปะสังสรรค์รับฟังด้วยจิตใจที่ ยอมรับ อย่างนี้จะทำความเศร้าหมองเดือดร้อนใจของเราให้น้อยลงได้ จะได้ไม่ต้องไปคอย ตามมองดูโทษของผู้อื่น ไม่ต้องไปตาม อภัยโทษ ให้ใคร ๆ อีก เพราะในขณะใดที่มีสติสัมปชัญญะอยู่ในใจของเรา จะทำให้เรามีความ รู้สึก ที่ดีต่อคนอื่นอยู่แล้วการเพ่งโทษผู้อื่น ก็เกิดขึ้นไม่ได้อยู่เอง และเมื่อนั้นความนอบน้อม อ่อนโยนอันเป็นมงคลชีวิตก็ย่อมเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

ปรกติความคิดของปุถุชนมักจะมีความคิดแย้งอยู่ในใจอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ขวางกั้นการพิจารณา คิดหาเหตุผล เพื่อให้เกิดความรู้สึกแยบคายในใจ เราจึงควรระมัดระวังใคร่ครวญให้ดี สัมผัสกับความรู้สึกที่ไม่ดีนี้เสียด้วยการพิจารณา (ปัญญา) รับฟัง ปิดปาก เสียจะเป็นประโยชน์ เพราะขณะที่เรานิ่งและฟังอยู่เป็น การยอมรับ และ พัฒนาความคิด ของเราไปด้วย แม้เรื่องราวนั้นจะเป็นสาระหรือไม่เป็นสาระก็ตาม เราต้องสนใจเพราะเป็นความคิดเห็นของเขา อาจจะ ผิดในความรู้สึกของเรา แต่ถูกต้องในความรู้สึกของเขา ความรู้สึกของเขากับของเราย่อมไม่เหมือนกัน เหมือนเช่น ความยุติธรรม ในทางกฎหมายกับ ความยุติธรรมในความรู้สึกของเราย่อมต่างกัน ได้โปรดพิจารณามันคนละเรื่องกัน แต่เรามักจะเอาความยุติธรรมในความรู้สึกของเรามาตัดสินเสมอ

แม้เรา ถามเขา ก็ต้องการให้ เขาตอบ ครั้นเขาไม่ตอบหรือตอบไม่ตรงคำถามของเรา เราก็โกรธ แท้จริงแล้วสิทธิของเขา เสรีภาพของเขา กิเลสของเขา เขาไม่จำเป็นเลยที่ต้องตอบเราหรือตอบให้ตรงกับคำถามของเรา เพียงเขาย้อนกลับมาว่าเราเองต่างหากถามตรงกับคำตอบของเขาเราก็โกรธอีก ความโกรธ ความต้องการของเราดูออกจะนำหน้าอยู่เสมอ เล่นอยู่ในใจของเราอยู่เสมอ หัดดูเขาเสียบ้างว่าหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุให้เกิด ทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องการให้เขาขึ้นมาแสดงเลย ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ดังนั้นเองพระพุทธดำรัสที่ว่า “ ฆ่าความโกรธเสียได้จึงเป็นสุข ผู้ฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก ผู้ฆ่าความโกรธเสียแล้วจึงเป็นสุข ” จึงเป็นสัจจะโดยแท้ ดังนั้นคำสอนของพระบรมศาสดาจึงหาได้พ้นไปจาก สัจจะ หรือ เหตุ และ ผล นั้นหามีไม่

ท่านจะเห็นแล้วใช่ไหมว่า “ การยอมรับผู้อื่น ” ควรเป็นชีวิตของเราโดยแท้จริงเพราะเป็นคุณธรรมเป็นพื้นฐานแห่งชีวิต จริงอยู่ว่าความรักเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่ความเมตตาและกรุณาทำให้ความเป็นมนุษย์นั้นสมบูรณ์ขึ้น ความรัก ความเมตตา กรุณา จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องสร้างพื้นฐานให้ชีวิตมีคุณภาพขึ้นมาก่อน ความรักและความเมตตากรุณาอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ได้ สร้างการยอมรับผู้อื่น จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะผู้อื่นก็มีเลือดเนื้อ มีความรัก ความโกรธ ความหลง ความตระหนี่ หวงแหน อิจฉาริษยาเหมือนกับเรานั่นแหละและก็รักชีวิตของเขายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดเหมือนกัน ควรหรือไม่ที่จะไปเพ่งโทษเขาเบียดเบียนชีวิตของเรา ทำร้ายเขา แม้ด้วยเพียงวาจา ไม่ควรอย่างยิ่งเพราะสิ่ง ซึ่งเป็นที่รัก ของทุกคนคือ ชีวิต ได้โปรดพิจารณา ทบทวน เอาเองให้ดีสำหรับชีวิตที่น้อยนิดเดียว รวดเร็วจะถึง ๓๐,๐๐๐ วัน ก็แสนยาก เหมือนฟองน้ำ เหมือนพยับแดด เหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้า เพียงต้องแสงอาทิตย์ก็หายไป ชั่วแวบเดียวจงเอาชีวิตที่ไม่ค่อยจะมีสาระเท่าใดนัก มาทำให้มีสาระเถิด ทำอะไรและทำอย่างไรโปรดพิจารณาเอาเอง

ทำความเพียรเสียแต่วันนี้เถิด หมั่นพิจารณาใคร่ครวญ ทบทวน และปฏิบัติเสียแต่วันนี้ เพราะเวลาของเรา เหลือน้อยเหลือเกิน อย่าปล่อยให้จิตใจเศร้าหมองให้ความทุกข์เข้าครอบงำจิตใจของเราเลย แท้ที่จริงแล้ว

“ ความทุกข์ของวันไหน ๆ ที่แล้วมาแล้ว ก็ควรเพียงพอสำหรับวันนั้น ๆ ใยต้องทำความกระสับกระส่ายกระวนกระวายใจให้เกิดขึ้นในวันนี้และพรุ่งนี้ด้วยเล่า ”



ชาวพุทธทุกคนจำเป็นต้องรู้ว่า บุญกับกุศลแตกต่างกันอย่างไร

โดย... พุทธทาสภิกขุ

เมื่อใด มีการพิจารณากัน ให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้น จะพบความแตกต่าง ระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับสิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ ความสามารถ ในการพินิจพิจารณา แต่ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมาย ของรูปศัพท์ แห่งคำสองคำนี้ทีเดียว

คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น, ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมาย เช่นนี้ เราย่อมเห็น ได้ว่า เป็นของ คนละอย่าง หรือ เดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจ พอใจ ชอบใจ เช่น ทำบุญ ให้ทาน หรือ รักษาศีล ก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกัน แม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือ แม้ในกรณีที่ ทำบุญ ด้วยความ บริสุทธิ์ใจ เพื่อเอาบุญ กันจริงๆ ก็ยังอด ฟูใจไม่ได้ ว่า ตนจะได้เกิด ในสุคติ โลกสวรรค์ มีความปรารถนา อย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิด ในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจาก การเวียนว่าย ตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิด ในโลก ที่เป็นสุคติอย่างไร ก็ตาม ฉะนั้น ความหมาย ของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ ฟูใจ และ เวียนไป เพื่อความเกิด อีก ไม่มีวัน ที่สิ้นสุดลงได้

ส่วนกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มี ความมุ่งหมาย จะกำจัด เสียซึ่ง สิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุ ให้พัวพัน อยู่ใน กิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก และมี จุดมุ่งหมาย กวาดล้าง สิ่งเหล่านั้น ออกไปจากตัว ในเมื่อบุญ ต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญ ยึดถืออะไร เอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้น ต้องการจะ ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไป ด้วยกัน ผ่ายข้างกุศล จึงถือว่า ฝ่ายข้างบุญ นั้น ยังเป็นความ มืดบอดอยู่

แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำ ทางภายนอก อย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหล ในคำสองนี้ อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่าง ต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือ

ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะ เอาหน้า เอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิด ในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน เอาบุญ หรือ ได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือ ให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ โดยบริสุทธิ์ใจ หรือ อำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญา เป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์ มากกว่า เอาไว้ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน เอากุศล หรือ ได้กุศล ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทาง กับการให้ทาน เอาบุญ เราจะเห็นได้ กันสืบไปอีกว่า การให้ทานเอาบุญ นั่นเอง ที่ทำให้เกิด การฟุ่มเฟือย ขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน จนกลายเป็น ผลร้าย ขึ้นในวงพระศาสนาเอง หรือ ในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทาน ในประเทศ มากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิด พากันวิพากษ ์วิจารณ์ ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญ นี้เอง ส่วนการให้ทาน เอากุศลนั้น อยู่สูงพ้น การที่ถูกเหยียด อย่างนี้ เพราะว่า มีปัญญา หรือเหตุผล เข้าควบคุม แม้ว่า อยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผล ว่า ควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ ไปในรูป ละโมบบุญ หรือ เมาบุญ เพราะว่า กุศล ไม่ได้เป็น สิ่งที่หวาน เหมือนกับ บุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้ เกิดการเหลือเฟือ ผิดความสมดุล ขึ้นในวงสังคม ได้เลย นี่เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือ รักษาไป ทั้งที่ไม่รู้จัก ความมุ่งหมาย ของศีล เป็นแต่ยึดถือ ในรูปร่าง ของการรักษาศีล แล้วรักษา เพื่ออวด เพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนา กันไว้ หรือ ทำอย่างละเมอไป ตามความนิยม ของคนที่ มีอายุ ล่วงมาถึง วัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยาก ในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัด ในศีล ของบุคคลประเภทนี้ อย่างนี้ เรียกว่า รักษาศีลเอาบุญ ส่วนบุคคล อีกประเภทหนึ่ง รักษาศีล เพียงเพื่อ ให้เกิด การบังคับตัวเอง สำหรับ จะเป็นทาง ให้เกิด ความบริสุทธิ์ และ ความสงบสุข แก่ตัวเอง และเพื่อนมนุษย์ เพื่อใจสงบ สำหรับ เกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากัน ลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะ แห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสีย ก็ไม่มีทาง ตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่า กุศล แปลว่า ความฉลาดหรือ เครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้ สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้ เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมาย ของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้อง รับการรักษา เป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้ มีตัณหาและทิฎฐิ เป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุด ก็เพียงได้เกิด ในวัฏสงสาร ตามที่ตน ปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิต ให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิด ของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ

ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์ อย่างเดียว แม้ยังจะต้อง เกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอก วัฎสงสาร มีทิศทาง ดิ่งไปยัง นิพพานเสมอ ไม่วนเวียน จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่า ปัญญา ในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพ หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น

ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอ หรือ ถึงกับหลง เอาบุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสน อลเวง เพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัว สิ่งที่เราต้องการ จนเกิด ความยุ่งยาก สับสน อลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัท เองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำ สุ่มสี่สุ่มห้า เอาของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า "บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับ การทำบุญกุศล นี้ ให้ลุล่วงไป ด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้ งอกงาม หรือ ปรากฏ หมดอำนาจบุญ เมื่อใด บาป ก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้า ของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ ความต่างกัน อย่างยิ่ง ย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้

คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็น และจะสมัครใจ จะปรารถนา อย่างไร ได้เช่นนี้ เมื่อใด จึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทาง แห่งการก้าวหน้า และทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็น ของที่ไม่อาจจะ เอามาเป็น อันเดียวกัน ได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย

ค้นหาข้อมูล

จำนวนผู้เข้าชม