Demo Site

สนทนาธรรม

วันที่ 17 กรกฎาคม 2553
ณ วัดป่าสันติธรรม เวอร์จิเนียร์

กัปป์ในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ : -

1. สุญญกัปป์ แปลว่า กัปป์ที่ไม่ทรงมีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระเจ้าบรมจักรผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ

2. อสุญญกัปป์ แปลว่า กัปป์ผู้ทรงผู้วิเศษ 3 จำพวกไว้ คือ พระสัพพัญญูพุทธเจ้า, พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระเจ้าบรมจักร อสุญญกัปป์ ยังแบ่งออกไปอีก 5 อย่าง ดังนี้

1.สารกัปป์ กัปป์ที่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า 1 พระองค์
2.มัณฑกัปป์ กัปป์ที่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า 2 พระองค์
3.วรกัปป์ กัปป์ที่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า 3 พระองค์
4.สารมัณฑกัปป์ กัปป์ที่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า 4 พระองค์
5.ภัททกัปป์ กัปป์ที่มีพระสัพพัญญูพุทธเจ้า 5 พระองค์

คือ กัปป์ปัจจุบันนี้ หมายถึง กัปป์แห่งความเจริญรุ่งเรือง การที่แผ่นดินเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ ตั้งขึ้นแล้ว ดำรงอยู่ และถูกทำลายไประยะเวลานั้นเรียก มหากัปป์ มีความยาวนานนับอสงไขยปีทีเดียว หรือจะเทียบเท่ากับการเอาผ้าขาวบาง 1 ผืนค่อยๆ ลูบเขาพระสุเมรุ ซึ่งสูง 1 โยชน์ กว้าง 3 โยชน์ ในทุก 100 ปี มาลูบ 1 ครั้ง จนสึกกร่อนราบเรียบเป็นหน้ากลอง เป็น 1 อสงไขย หรือกัปป์นั่นเอง

อสงไขย หรือกัปป์นั้น แบ่งอีกอย่างหนึ่งมี 4 ประการคือ : -

1. สังวัฏฏะอสงไขย แปลว่า ระยะเวลาอันฉิบหายนั้น นับเป็นอสงไขยทีเดียว
2. สังวัฏฏัฏฐายีอสงไขย แปลว่า ระยะเวลาอันฉิบหายนั้น ตั้งอยู่นานเป็นอสงไขย ๆ ทีเดียว
3. วิวัฏฏะอสงไขย แปลว่า ระยะเวลาอันบังเกิดความเจริญ
4. วิวัฏฏฐายีอสงไขย แปลว่า ระยะเวลาอันตั้งอยู่แห่งความเจริญตลอดกาล

สำหรับสังวัฏฏะอสงไขยนั้นแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ :-
1. เตโชสังวัฏฏะ แปลว่า กัปป์ที่วินาศด้วยไฟ ไฟจะไหม้ขึ้นไปจนถึงชั้นอาภัสสราพรหมเป็นกำหนด
2. อาโปสังวัฏฏะ แปลว่า กัปป์ที่วินาศด้วยน้ำ คือ น้ำจะท่วมขึ้นไปจนถึงเบื้องใต้ ชั้นสุภกิณหกาพรหมโลกลงมาเป็นกำหนดเขต
3. วาโยสังวัฏฏะ แปลว่า กัปป์ที่วินาศด้วยลม คือ ลมจะพัดพาโลกวินาศตั้งแต่เบื้องใต้ ชั้นเวหัปผลาพรหมโลกลงมาเป็นกำหนดเขต

มูลเหตุแห่งความฉิบหาย 3 อย่างในสังวัฏฏะอสงไขย
1. มนุษย์สันดานหนาแน่นด้วยราคะ สัตว์โลกจะถูกทำลายด้วยไฟ
2. มนุษย์สันดานหนาแน่นด้วยโทสะ สัตว์โลกจะถูกทำลายด้วยน้ำ
3. มนุษย์สันดานหนาแน่นด้วยโมหะ สัตว์โลกถูกทำลายด้วยลม

โลกนี้ บังเกิดขึ้นจากผลบุญของสัตว์ แต่แล้วก็วินาศจากผลบาปของสัตว์ด้วยดุจกัน อกุศลมูลทั้ง 3 เป็นเหตุให้เกิดกัปป์ทั้ง 3 ในวิวัฏฏฐายีอสงไขย แม้ว่าในอสงไขยนี้ จะเป็นยุคแห่งความเจริญสักเพียงใดก็ตาม ผลบาปของสัตว์ทั้งหลายอันหนาแน่นด้วยอกุศลมูลทั้ง 3 ก็ยังอาจบันดาลให้โลกนี้เกิดกัปป์ทั้ง 3 ได้อีก

กัปป์หรือ ยุคทั้ง 3 เป็นไฉน ? เกิดจากอะไร ?

1.โมหมูล เป็นเหตุให้บังเกิด โรคันตรกัปป์ คือ เกิดโรคระบาดร้ายแรง มีกำหนด 7 เดือน จึงระงับ
2. โทสมูล เป็นเหตุให้บังเกิด สัตถันตรกัปป์ คือ เกิดสงครามร้ายแรง มีกำหนด 7 วัน จึงระงับ
3. โลภมูล เป็นเหตุให้บังเกิดทุพภิกขันตรกัปป์ คือ เกิดฉาตกภัย อดอยากอาหารตาย อย่างร้ายแรง มีกำหนด 7 เดือน จึงระงับ

ในมหากัปป์นี้ มี 64 อันตรกัปป์ จากกัปป์ที่ 1 ถึง 7 ถูกทำลายด้วยไฟ พอกัปป์ที่ 8 จะถูกทำลายด้วยน้ำแล้วนับตั้งต้นใหม่เวียนอยู่อย่างนี้รอบละ 8 กัป จนถึงกัปป์ที่ 64 นับได้ว่า โลกพินาศด้วยไฟ 56 ครั้ง
น้ำ 7 ครั้ง ลม 1 ครั้ง รวมเป็น 64 ครั้ง

ปัจจุบันนี้โลกอยู่ในกัปป์ที่ 64 คือ สัตว์โลกจะถูกทำลายด้วยลม คือ ลมมาทุกทิศทุกทาง นับเป็นมหันตภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาภัยทั้ง 3 ที่ทำลายสัตว์โลก เมื่อถึงคราวโลกพินาศ ในจำนาวภูมิ ทั้ง 31 ภูมิ มีภูมิที่พ้นจากถูกทำลาย คือ ในรูปพรหมภูมิตั้งแต่ชั้นที่ 10 เวหัปผลาภูมิ จนถึงชั้นที่ 16 อกนิฏฐาภูมิ
(เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ จะพินาศตั้งแต่อบายภูมิ จนถึงปฐมฌานภูมิ 3 เมื่อถูกทำลายด้วยน้ำ จะพินาศตั้งแต่อบายภูมิจนถึงทุติยฌานภูมิ 3 เมื่อถูกทำลายด้วยลม จะพินาศจนถึงตติยฌานภูมิ 3 )

ส่วนพรหมชั้นสูงกว่า ตติยฌานภูมิขึ้นไป แม้มิถูกทำลาย แต่ก็มีเวลาจุติตามอายุขัย ก่อนที่โลกจะถูกทำลายแต่ละครั้ง จะมีเทวดาชื่อ โลกพยุหเทวดา ล่วงรู้ถึงภัยพิบัตินั้น เทวดาเหล่านี้ เศร้าโศกเสียใจ สลดสังเวช จึงพากันสัญจรลงมายังโลกมนุษย์ ประกาศป่าวร้องไปทั่วถึงภัยอันตรายนั้นๆ เริ่มบอกตั้งแต่ก่อนโลกพินาศ เป็นเวลา 100,000 ปี และจะลงมากล่าวเตือนดังนี้ ทุกระยะ 100 ปี เมื่อมนุษย์และเทวดาทั้งหลายได้รับทราบข่าวนี้แล้ว ย่อมเกิดความสังเวช สลดใจ รักใคร่ปรองดอง ชักชวนกัน ประกอบกุศลกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ เจริญพรหมวิหารธรรม เมื่อตายแล้ว พากันไปบังเกิดในเทวโลก พรหมโลก
ที่บังเกิดในสวรรค์ ชั้นกามาพจร หรือ พรหมโลกชั้นต่ำ ก็ขวนขวาย เจริญฌานจนตาย แล้วไปบังเกิดในภูมิชั้นสูงๆ อันพ้นจากความพินาศของโลกต่อไป

ส่วนสัตว์ในอบายภูมิ ทั้งที่มีอกุศลกรรม เบาบางหรือหนักก็ตาม จะมีญานชนิดหนึ่ง ชื่อชาติสรญาน คือระลึกชาติได้ว่า ที่ตนต้องเสวยความทุกข์ทรมานต่างๆเหล่านั้น ด้วยเหตุจากการประกอบอกุศลกรรม
จึงรู้สำนึกตน อำนาจของกุศลที่เคยประกอบไว้ในชาติก่อนๆ จะส่งผลให้พ้นจากอบายภูมินั้นๆ ได้เกิดเป็นมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง จึงทันได้รับทราบข่าวจากการป่าวประกาศของโลกพยุหเทวดา และพากันเจริญฌานต่อๆไป จนไปบังเกิดในพรหมโลกจนหมด ก่อนถูกทำลายด้วยสิ่งใดๆก็ตาม เสียงเอิกเกริก เซ็งแซ่โกลาหล จะบังเกิดขึ้นในโลก 5 ประการ ที่ทำให้มนุษย์และเทวดาทราบข่าวล่วงหน้า และพากันเจริญกุศลธรรมต่างๆ เพื่อหนีความพินาศของโลก เสียงประกาศเหล่านั้นคือ

1. กัปปะโกลาหล เสียงประกาศให้ทราบว่า ต่อจากนี้อีก 100,000 ปี โลกจะถึงความพินาศ
2. พุทธะโกลาหล เสียงประกาศเกริกก้องว่า ต่อจากนี้อีก 1,000 ปี จะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกมนุษย์
3. จักกวัตติโกลาหล เสียงประกาศว่า นับแต่นี้อีก 100 ปี จะมีพระเจ้าจักรพรรดิบังเกิดขึ้นในโลก
4. มังคละโกลาหล เสียงประกาศว่า ภายในเวลาอีก 12 ปี พระพุทธเจ้า จะทรงแสดงธรรมที่เป็นมงคล 38 ประการ
5. โมเนยยะโกลาหล เสียงประกาศว่าภายในระยะเวลาอีก 7 ปี จะมีผู้ปฏิบัติโมเนยยะ (ปราชญ์) มาบังเกิดในโลก

ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ยาวนานเท่าไร


1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร

400 เส้น = 1 โยชน์

20 วา = 1 เส้น

1 กัป = ตั้งแต่โลกเกิด จนถึงโลกดับ 1 ครั้ง

อสงไขย = 10 ยกกำลัง 140 กัปป์

*** คำว่า กัปป์ กับ คำว่า กัลป์ เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คำนึงเป็น บาลี คำนึงเป็น สันสกฤต

สมมุติมีกล่องใบหนึ่ง กว้าง 100 โยชน์ ยาว 100โยชน์ และ สูง 100 โยชน์ ในเวลา 100 ปี ให้เอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ด ใส่ลงไปในกล่องนั้น ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่อง นั้นละจึงเท่ากับ 1 กัป

(บางตำรากล่าวว่า กว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์ สูง 1 โยชน์) วิเคราะห์คำนวณ 1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร ดังนั้นกล่องใบนี้มีปริมาตร = 1600X1600X1600 = 4,096,000,000 ลูกบาตกิโลเมตร ประมานว่า เมล็ดผักกาด มีขนาด .5 มิลลิเมตร 1 กิโลเมตรเทียบเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้ 10X100X1000 = 1,000,000 มิลลิเมตรจะได้ 1 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,000 เมล็ด

ดังนั้น 1600 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = 1600X2,000,000 = 3,200,000,000 เมล็ด ถ้าเป็นปริมาตร คือ กว้าง x ยาว x สูง

ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด คือ

3,200,000,000X3,200,000,000X3,200,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000,000,000 เมล็ด

ใน 100 ปี ใส่เมล็ดผักเพียง 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมดคือ

32,768,000,000,000,000,000,000,000,000X100 = 3,276,800,000,000,000,000,000,000,000,000 ปี

จึงได้เวลา 1 กัปป์ ประมาณ สามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้านล้าน ปีประมาณ 3.3 X 10 ยกกำลัง 30 ปี

1 อสงไขยมีกี่กัปนั้นเป็นจำนวนที่แน่นอน คือ 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 140 ตัว หรือ 1 X 10 ยกกำลัง140 กัปป์

กัปป์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑) สุญญกัปป์ หมายถึง กัปป์ที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ
๒) อสุญญกัปป์ หมายถึง กัปป์ที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ อุบัติขึ้น
อสุญญกัปป์มี ๕ อย่างคือ
๑) สารกัปป์ ได้แก่ มหากัปป์(= ๔ อสงไขยกัปป์)ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๑ พระองค์
๒) มัณฑกัปป์ ได้แก่ มหากัปป์(= ๔ อสงไขยกัปป์)ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๒ พระองค์
๓) วรกัปป์ ได้แก่ มหากัปป์(= ๔ อสงไขยกัปป์)ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๓ พระองค์
๔) สารมัณฑกัปป์ ได้แก่ มหากัปป์(= ๔ อสงไขยกัปป์)ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๔ พระองค์
๕) ภัททกัปป์ ได้แก่ มหากัปป์(= ๔ อสงไขยกัปป์)ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๕ พระองค์

ภัทรกัปป์ ( คือกัปป์ปัจจุบัน )
มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้แล้ว ๔ พระองค์คือ
- พระพุทธกกุสนธะ
- พระพุทธโกนาคมน์
- พระพุทธกัสสปะ
- พระพุทธโคดม ( สมเด็จพระศาสดาองค์ปัจจุบัน )
- และจะมี พระพุทธเมตไตรย มาตรัสรู้ในอนาคต

เมื่อสิ้นมหากัปป์นี้แล้ว คัมภีร์อนาคตวงศ์กล่าวไว้ว่าอสุญญกัปป์ต่อไปจะเป็น มัณฑกัปป์ มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์คือ พระรามโพธิสัตว์ และพระเจ้าปเสนทิโกศล(พระธรรมราช)
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------
พระสูตรเกี่ยวกับความยาวของกัปป์

จาก "ภูมิวิลาสินี" หน้า ๔๕๖ - ๔๖๐ โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

ปัพพตสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๓๑๔ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)

"ดูกรภิกษุ! กัปหนึ่งนั้น เป็นเวลายาวนานนักหนา จะนับเป็นว่า
- เท่านี้ปี
- เท่านี้ร้อยปี
- เท่านี้พันปี
- เท่านี้แสนปี ดังนี้ไม่ได้เลย"

"ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง เหมือนอย่างว่า ภูเขาศิลาลูกใหญ่ ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งนำเราผ้าขาวบางเยื่อไม้มาแต่แคว้นกาสี แล้วเอาผ้านั้นปัดถูภูเขา ๑๐๐ ปีต่อครั้งหนึ่งดังนี้ การที่ภูเขาศิลาใหญ่นั้น จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามของบุรุษนั้นยังเร็วกว่า แต่เวลาที่เรียกว่า กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย กัปหนึ่งนั้น นานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่นานอย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปมาอยู่ในวัฏสงสาร
มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐๐๐ กัป (แสนกัป- ไม่ได้พิมพ์ผิดนะคะ - deedi) ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา? เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเขาไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย"
…………………………………………………………

สาสปสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๑๓ หน้า ๒๑๖ บาลีฉบับสยามรัฐ)

"ดูกรภิกษุ! เราตถาคตจะยกอุปมาให้เธอฟัง เหมือนอย่างว่า พระนครที่ทำด้วยเหล็ก มีความยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ ซึ่งเป็นพระนครที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ยังมีบุรุษผู้หนึ่งพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่งๆ ออกจากพระนครนั้น โดยกาลล่วงไป ๑๐๐ ปี ต่อเมล็ดหนึ่ง การที่เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น จะพึงถึงความหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายาม ของบุรุษนั้น ยังเร็วกว่า แต่เวลาที่เรียก กัปหนึ่ง นั้น ยังไม่ถึงความหมดไป สิ้นไปเลย กัปหนึ่งนั้น ยาวนานอย่างนี้ ก็บรรดากัปที่ยาวนาน อย่างนี้แหละ พวกเธอท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ในวัฏสงสาร มิใช่ ๑ กัป มิใช่ ๑๐๐ กัป มิใช่ ๑๐๐๐๐๐ กัป (แสนกัป- deedi) เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย"
…………………………………………………………
สาวกสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๓ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)

อีกคราวหนึ่ง ได้มีพระภิกษุหลายรูปด้วยกัน ได้พากัน เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลถามเรื่องกัปที่ล่วงไปแล้วว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! บรรดากัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีมากเท่าใดหนอ พระเจ้าข้า"
สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสตอบว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตจะยกอุปมาให้พวกเธอฟัง ยังมีพระพุทธสาวก ๔ รูปในพระศาสนานี้
เป็นผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี หากว่าพระสาวกทั้ง ๔ รูปเหล่านั้น สามารถระลึก ถอยหลังไปได้วันละ ๑๐๐๐๐๐ กัป กัปที่พระสาวกเหล่านั้นระลึกไม่ถึงพึงยังมีอยู่อีก พระสาวก ๔ รูปของเราผู้มีอายุยืน ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี พึงทำกาละโดยล่วงไป ๑๐๐ ปีเสียก่อน โดยแท้เลย กัปที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีจำนวนมากมาย อย่างนี้แหละ ฉะนั้น จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ง่าย ในการที่จะนับจำนวนกัปว่า เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา?
เพราะว่า วัฏสงสาร กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย"
…………………………………………………………..

คงคาสูตร (สังยุตนิกาย นิทานวรรค ข้อ ๔๓๕ หน้า ๒๑๗ บาลีฉบับสยามรัฐ)

กาลต่อมาอีกคราวหนึ่ง
ขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง เข้าไปเฝ้าและกราบทูลถามปัญหาเรื่องกัปที่ผ่านไปแล้ว อีกเช่นกัน แลในวันนั้น สมเด็จพระพุทธองค์ ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาตอบแก่เขาว่า
"ดูกรพราหมณ์! เราตถาคตจะยกอุปมาให้ท่านฟัง เหมือนอย่างว่า แม่น้ำคงคานี้ ย่อมเกิดแต่ที่ใด และย่อมถึงมหาสมุทร ณ ที่ใด เม็ดทรายในระยะนี้ ย่อมไม่เป็นของไม่ง่ายนัก ที่จะกำหนดนับได้ เท่านี้เม็ด เท่านี้ร้อยเม็ด เท่านี้พันเม็ด เท่านี้แสนเม็ด ดูกรพราหมณ์! กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มากกว่าเม็ดทรายเหล่านั้น จึงมิใช่เป็นการง่ายนัก ที่จะกำหนดนับกัปเหล่านั้นว่า เท่านี้กัป เท่านี้ร้อยกัป เท่านี้พันกัป เท่านี้แสนกัป
ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา?
เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปมาอยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารนั้น ได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้า ตลอดกาลนาน พอทีเดียวเพื่อจะคลายความกำหนัด พอทีเดียวเพื่อจะหลุดพ้นได้ ใช่ไหมเล่า"
เมื่อสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสฉะนี้แล้ว พราหมณ์ผู้นั้นได้กราบทูลด้วยความเลื่อมใสว่า
"แจ่มแจ้งยิ่งนัก ท่านพระโคดม! ไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดม! ขอท่านพระโคดมผู้เจริญ โปรดจงจำข้าพระบาทว่า "เป็นอุบาสก" ผู้ถึงสรณะสาม ตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป" ดังนี้
---------------------------------------

พระสูตรเกี่ยวกับความยาวของวัฏสงสาร จาก "ภูมิวิลาสินี" หน้า ๔๕๓ - ๔๕๖
โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)

…ขอให้พุทธสาวกทั้งหลายนึกถึงพระพุทธฎีกาว่าด้วย ความยาวนานแห่งวัฎสงสาร อันปรากฏมีในอนมตัคคสังยุต (สังยุตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุต ติณกัฏฐสูตร ข้อ ๔๒๑ หน้า ๒๑๒ บาลีฉบับสยามรัฐ) ซึ่งเป็นเรื่องที่ พวกเราชาวพุทธบริษัทสมควรจะรับทราบเอาไว้ ดังต่อไปนี้
ความยาวนานแห่งวัฏสงสาร

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! อันว่าวัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ เมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลาย ถูกอวิชชาเป็นที่กางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! เหมือนอย่างว่า มีบุรุษคนหนึ่งเที่ยวตัดหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ แล้วจึงรวมกันไว้ ครั้งแล้วพึงกระทำให้เป็นมัดๆ มัดละ ๔ นิ้ว วางเอาไว้ แล้วจึงกระทำการสมมติว่า
"นี่ เป็นมารดาของเรา" และว่า
"นี่ เป็นมารดาแห่งมารดาของเรา"
กระทำการสมมติไปโดยลำดับ มารดาแห่งมารดา ของบุรุษนั้น ไม่พึงสิ้นสุดลงได้ แต่ว่าหญ้า ไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ พึงถึงความหมดสิ้นไปก่อน
ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา?
เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ เมื่อเหล่าสัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏ พวกเธอ ได้เสวยทุกข์ ความเผ็ดร้อน ความพินาศ ได้เพิ่มพูนปฐพีที่เป็นป่าช้าตลอดกาลนาน
ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย!
ก็เหตุเพียงเท่านี้ ย่อมเป็นการเพียงพอทีเดียว เพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง ย่อมเป็นการเพียงพอเพื่อจะหลุดพ้นได้"

อีกคราวหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องวัฏสงสารนี้ ในท่ามกลางที่ประชุม พระภิกษุสงฆ์ว่า

(สังยุตนิกาย นิทานวรรค อนมตัคคสังยุต ปฐวีสูตร ข้อ ๔๒๓ หน้า ๒๑๒ บาลีฉบับสยามรัฐ)

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นไม่ได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ ถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาเป็นเครื่อง ผูกพันเข้าไว้ ก็จะท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่ โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! เหมือนอย่างว่า มีบุรุษคนหนึ่งพยายามปั้น แผ่นปฐพีนี้ให้เป็นก้อน ก้อนละเท่าเม็ดกระเบา แล้ววางไว้ และแล้วก็กระทำสมมติว่า
"นี่ เป็นบิดาของเรา"
และว่า "นี่ เป็นบิดาแห่งบิดาของเรา"
กระทำการสมมติเรื่อยไปโดยลำดับดังนี้ บิดาแห่งบิดาของบุรุษนั้น ย่อมไม่เป็นอันที่จะ สิ้นสุดลงไปได้ แต่ว่ามหาปฐพีนี้ พึงถึงความหมดสิ้น ไปก่อน
ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา
เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย" ดังนี้

ยังมีอีกคราวหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมีพระมหากรุณาตรัสสอนเรื่องวัฏสงสาร ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ว่า

(สังยุตนิกาย นิทานวรรค อัสสุสูตร ข้อ ๔๒๕ หน้า ๒๑๓ บาลีฉบับสยามรัฐ)

"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร! วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุกและเบื้องต้นมิได้ พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน คือ น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพราก สิ่งที่พอใจโดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน? ถูกแล้ว น้ำตาที่หลั่งไหล ออกจากตาของพวกเธอ ผู้ท่องเที่ยวไปมา ร้องไห้ คร่ำครวญอยู่ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี่แหละ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นไหนๆ
พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของมารดาตลอดกาลนาน น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ประสบมรณกรรมของมารดา และร้องไห้คร่ำครวญ เพราะประสบสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพราก จากสิ่งที่พอใจอยู่นั้น มีประมาณมากกว่าน้ำ ในมหาสมุทรทั้ง ๔ ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้น มีประมาณไม่มากกว่าน้ำตาของพวกเธอเลย

พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบิดามาตลอดกาลนาน…
พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของน้องสาวมาตลอดกาลนาน…
พวกเธอได้ประสบมรณกรรมของบุตรธิดามาตลอดกาลนาน…
พวกเธอได้ประสบกับความเสื่อมแห่งญาติมาตลอดกาลนาน…
พวกเธอได้ประสบกับความเสื่อมแห่งโภคะมาตลอดกาลนาน…
พวกเธอได้ประสบกับความเสื่อมเพราะโรคมาตลอดกาลนาน
น้ำตาที่หลั่งไหลออกจากตาของพวกเธอ ผู้ประสบกับ ความเสื่อมเพราะโรค และร้องไห้คร่ำครวญเพราะประสบ สิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจอยู่นั้น มีประมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔
ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้น มีประมาณไม่มากกว่าน้ำตาของพวกเธอเลย
ข้อนี้ เป็นเพราะเหตุดังฤา?
เพราะว่า วัฏสงสารนี้ กำหนดที่สุดและเบื้องต้นมิได้ ในเมื่อเหล่าสัตว์ถูกอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น ถูกตัณหาผูกพันเข้าไว้ ก็ย่อมจะต้องท่องเที่ยวไปๆ มาๆ อยู่โดยที่สุดและเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏเลย" ดังนี้

ค้นหาข้อมูล

จำนวนผู้เข้าชม